2568: ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคารถมือ 2 กับการขับเคลื่อนธุรกิจลานประมูล บริษัท อัลลายแอนซ์ ออโต้ ออคชัน จำกัด (AAA)

02/01/2025
  • images
  • images
02/Jan/2025 12:00 PM

2568: ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคารถมือ 2 กับการขับเคลื่อนธุรกิจลานประมูล บริษัท อัลลายแอนซ์ ออโต้…

บริษัท อัลลายแอนซ์ ออโต้ ออคชัน จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ AAA ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นลานประมูลรถยนต์แห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างมาตรฐานใหม่ในการรับประกันเลขไมล์ของรถยนต์ทุกคันและจัดเกรดรถยนต์ที่ผ่านการประมูล

ความสำเร็จของ AAA เกิดขึ้นจากในการนำเสนอรถยนต์มือ 2 ที่สร้าง "ความไว้วางใจ" (TRUST) ให้ผู้บริโภคทุกรายและดีลเลอร์รถยนต์มือ 2 ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิดเรื่องการ "ยกระดับมาตรฐานรถยนต์รถยนต์ใช้แล้ว" อย่างต่อเนื่อง

คุณประสงค์ ตั้งสีฟ้า กรรมการผู้จัดการ AAA กล่าวว่า จุดเด่นของบริษัทคือการเน้นการ "เปิดเผยข้อมูล รวมทั้งโปร่งใส และที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ต่อผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ AAA ยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและรับรองรายละเอียดของรถยนต์ก่อนการประมูล เพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ได้ไปนั้น "ตรงปก" ตามที่ระบุไว้ ซึ่งเป็นที่มาให้บริษัทฯ ยังสามารถประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจได้ในปี 67 แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผลต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 (ปี 63-65) และภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงต่อเนื่อง

ผลประกอบการของ AAA ในปี 67 เพิ่มขึ้น 12% (yoy) แม้จะไม่ได้เน้นการเพิ่มยอดขายหรือขยายตลาดอย่างเร่งรีบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย ผู้บริหารของ AAA เลือกที่จะคงความมั่นคงและสร้างความเชื่อมั่นจากฐานลูกค้ามากกว่าการไล่ล่าผลกำไร

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มือ 2 คือ การที่ตลาดรถยนต์ใหม่ถูกชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะ EV จากประเทศจีน การเข้ามาของ EV ที่มีราคาถูกลง ส่งผลให้ทั้งตลาดรถยนต์สันดาป และรถตลาดของรถยนต์มือ 2 ก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่รวดเร็วและรุนแรงนี้

ปี 68 คุณประสงค์ มองว่าธุรกิจลานประมูลรถยนต์ของ AAA จะเผชิญกับปัจจัยที่ท้าทายมากมาย ซึ่งจะส่งผลทั้งสองกลุ่มหลักคือ รถยึดจากสถาบันการเงิน และรถยนต์ที่มาจากบริษัทผู้ให้เช่ารถ ซึ่งรถยึดจากสถาบันการเงินกลุ่มนี้ไม่ได้มีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

ในทางกลับกัน จำนวนรถยนต์ที่เข้าสู่ตลาดมือ 2 อาจลดลงเนื่องจากลูกค้าใหม่หันไปใช้ EV ที่มีราคาแข่งขันได้ดีกว่า ส่วนกลุ่มบริษัทผู้ให้เช่ารถ พบว่ารถเช่าในตลาดมีจำนวนหมุนเวียนราว 120,000 ถึง 150,000 คันต่อปี แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทผู้ให้เช่ารถได้ปรับแผนธุรกิจโดยยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ออกไป ซึ่งอาจทำให้จำนวนรถเช่าที่หมุนเวียนเข้าสู่ลานประมูลลดลง

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ความต้องการรถเช่าก็จะเพิ่มขึ้นและส่งผลบริษัทผู้ให้เช่ารถจัดซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รถยนต์เหล่านี้จะหมุนเวียนเข้าสู่ลานประมูลเมื่อครบสัญญาเช่าต่อไป

มุมมองของคุณประสงค์ เชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญต่อตลาดรถยนต์มือ 2 การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทำให้ยอดขายรถยนต์ทั้งใหม่และมือ 2 มีความผันผวนสูง ทั้งนี้ตามข้อมูลปัจจุบัน การซื้อขายรถยนต์ที่จำเป็นต้องใช้บริการไฟแนนซ์คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของการซื้อขายทั้งหมด

เมื่อสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ยอดขายรถยนต์มือ 2 ก็จะลดลง และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเพิ่มขึ้นของรถที่ถูกยึดจากสถาบันการเงินในปี 68 อาจเพิ่มขึ้นอีกจากปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภค ซึ่งอาจมีปริมาณที่สูงมาก ทั้งนี้หลายคนมาจากกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ(ต่อเนื่อง)จากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถชำระหนี้ตามที่กำหนดได้แม้จะผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาหลายรอบแล้วก็ตาม

นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว สถานการณ์สงครามภูมิภาคต่างๆ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะภาคขนส่งที่มีน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญที่อาจเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ขยับสูงขึ้นตาม ทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรง

อีกทั้งอัตราค่าแรงขั้นต่ำและค่าไฟที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอาจเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ไทยก็ยังคงมีปัจจัยบวกจากการสนับสนุนของภาครัฐและการมีฐานการผลิตรถยนต์ของหลายๆ ค่ายใหญ่จากประเทศต่างๆ ที่ยังเชื่อมั่นใน Supply Chain and Good Eco Systems ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย คาดว่าปี 68 จะมียอดขาย EV ไม่ต่างจากปี 67 มากนัก โดยในปี 66 มีการจดทะเบียน EV ใหม่ประมาณ 20,000 คัน ส่วนปี 67 คาดว่าจะจดทะเบียนประมาณ 100,000 คัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 150,000 คัน สาเหตุหลักเกิดจากสงครามราคา EV ที่ทำให้ผู้บริโภคกังวลเรื่องความผันผวนของราคา รวมทั้งราคาของแบตเตอรี่ที่สูงยังเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนยังไม่ตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้า

ขณะเดียวกันรถยนต์ไฮบริด กลับมาได้รับความนิยม โดยแบรนด์อย่าง TOYOTA และ HONDA ได้พัฒนาให้รถไฮบริดมีอัตราประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น พร้อมกับรับประกันแบตเตอรี่ยาวนานถึง 10 ปีโดยไม่จำกัดระยะทางอีกด้วย จึงส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อรถไฮบริดเนื่องจากความสะดวกในการเติมเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องรอชาร์จเหมือนรถไฟฟ้า

ส่วนภาพรวม AAA ยังคงเดินหน้าธุรกิจด้วยความรอบคอบพร้อมเน้นสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม (Stake Holders) แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกมากมาย ทั้งปัญหาสภาพเศรษฐกิจ การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ รวมทั้งปัญหาการแข่งขันในตลาดรถยนต์ที่รุนแรงหนักหน่วงขึ้น และปัญหาอื่นๆ ที่ท้าทายและรับมือยากยิ่งขึ้น คือปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อีกด้วย

93 จำนวนเข้าชม